ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ล่องเรือไหว้พระ 9+1 วัด เที่ยวเกาะเกร็ด











         ถ้าจำไม่ ผิดล่องเรือไหว้พระ 9 วัด น่าจะเริ่มครั้งแรก ปี พ.ศ.2550 อบจ.นนทบุรี ได้เริ่มจัดงานนี้ขึ้น พร้อมกับงานทุเรียนนนท์ โดยเริ่มจากวัดแรกคือวัดใหญ่สว่างอารมณ์ อ.ปากเกร็ด นนทบุรี เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด ปีนั้นจัดรวบรวมข้อมูลวัดต่าง ทั้ง 9 วัด และสวนทุเรียน 9 สวนด่น มาให้ศึกษา (ได้เห็นชื่อพันธุ์ทุเรียนร้อยสายพันธุ์ที่ไม่เคยได้ยินชื่อเลย แต่ที่เหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งที่อ่านชื่อเลยสูญพันธุ์ไปมาก) ปีแรกคนยังไม่มาก เพิ่งจะมีถนนสายราชพฤกษ์ตัดใหม่ผ่าน ก็สะดวกขึ้น โชคร้ายที่ปีแรกติดพายุฝนฟ้า งานกร่อยไปหน่อย แต่ก็ได้ผลตอบรับที่ดี หลังจากนั้นก็เริ่มจัดต่อเนื่องทุกปี จนเป็นงานต่อเนื่องทุกเสาร์-อาทิตย์ 9.00-14.00 น. ฟรี (ตอนนี้เป็นงาน 9 วัด+1 แล้ว)  แรกๆสะดวกสำหรับคนมีรถส่วนตัว เพราะเข้าออกเป็นทางเฉพาะ ไม่มีรถประจำทางเข้า แต่เดี๋ยวนี้มีบริการรถเข้าถึงในวัดใหญ่เลย การเดินทางโดยรถประจำทาง มี
              - สาย 18 (อนุสาวรีย์ชัยฯ-ท่าอิฐ)
              - สาย 69 (อนุสาวรีย์ชัยฯ-ท่าอิฐ)
              - รถสองแถวเล็กสาย วัดแสงสิริธรรม-วัดเชิงเลน-ตลาดท่าอิฐ ที่นี่จะมีรถสองแถวรับส่งจากตลาดท่าอิฐไปวัดใหญ่สว่างอารมณ์ และอีกจุดหนึ่ง หน้า เซ็นทรัลรัตนาธิเบศธ์ (ไม่แน่ใจว่ายังให้บริการอยู่หรือไม่ )
              ก่อนไปก็โทรถามได้ที่ ฝ่ายพัฒนาสังคมกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต 0-2591-6700 ต่อ 341,342
08-1398-5806,08-1337-6754,08-1403-9650,08-1384-4612



                   รถส่วนตัว ดูตามแผนที่ ที่ให้ไว้เลยครับ


                ก่อนที่ถนนสายราชพฤกษ์ จะตัดผ่าน เส้นทางไปวัดใหญ่เป็นเส้นทางที่สงบเงียบมาก เพราะเป็นถนนเส้นเล็ก มาทะลุออกเส้นย่อยๆ ทะลุออกไป 345 ออกตามหมู่บ้าน หลายๆหมู่บ้าน เช่นเอ็มเมอร์รัล,สินบดี ลภาวันมาออกหน้าเทศบาลบางบัวทอง ไปออกเส้นรัตนาธิเบศร์ได้ เป็นเส้นที่ใช้วิ่ง






         
 เส้นทางวิ่งจากหลังหมู่บ้าน สินบดี,เอ็มเมอร์รัล ไปออกถนนเล็กๆไปวัดใหญ่ฯกับท่าอิฐได้
                                                                             

ออกกำลังกายจากหมู่บ้านสินบดี ไปจนถึงวัดใหญ่สว่างอารมณ์ แถมมีเส้นแยกให้เลือกวิ่งอีก เส้นทางเป็นสวน เป็นทุ่งนา วิ่งไปเบื่อเลย จะมีเส้นที่แยกไปท่าอิฐข้ามคลอง น่าจะเป็นคลองพระพิมลมีครัวคันไถอยู่ตีนสะพาน วิ่งไปพักเหนื่อยชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม แต่ตอนนี้เป็นแค่คลองล้อมเกาะเกร็ด อีกฝั่งจะเป็นเกาะเกร็ดมองเห็นอยู่ข้างหน้า แวะโปรยขนมปังให้อาหารปลา สักพักก็ออกวิ่งต่อไปถึงวัดสาลิโข แล้วผ่านตัววัดวิ่งต่อจนถึงวัดสะพานสูง (เขาว่าวัดนี้มีอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้สร้างพระปิดตาที่อยู่ 1 ใน 5 เบญจภาคีพระปิดตา เจ้าตำรับตะกรุดโสฬส อันเป็นตะกรุดยอดปรารถนาของนักนิยมสะสมเครื่องรางของขลัง ปัจจุบันทั้งพระปิดตาและตะกรุดโสฬสมีราคาเล่นหาแพงเรือนแสนเรือนล้าน) ไกลสุดๆแล้ว น่าจะ 10 กิโลเศษรวมไป-กลับแล้ว ซึ่งเคยพยามวิ่งต่อไปอีกแต่ไม่ไหว ไปอีกไม่ไกลก็จะเป็นท่าน้ำ ที่จะข้ามฝั่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังปากเกร็ด ตอนนั้นสะพานพระราม 4 กำลังสร้างอยู่ยังไม่เสร็จดี เส้นทางพวกนี้กลุ่มเสือหมอบขี่กันจนทะลุปรุหมดไปแล้ว ยังเสียดายไม่หายเพราะตอนนี้จะวิ่งไปต้องเสี่ยงข้ามถนนราชพฤกษ์ หรือไม่ก็ต้องวิ่งอ้อม หรือวิ่งสวนเลน
             จริงๆไม่นานนี้มีอีกหนึ่งเส้นทางที่ไปเกาะเกร็ดได้ คือตลาดน้ำพิมลราช อยู่ตรงประตูน้ำคลองพระพิมล เปิดได้ยังไม่ถึงปี ก็ต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ผมว่าหนึ่ง ของกินไม่น่าสนใจพื้นๆ ไม่มีเสน่ห์ สอง สินค้าไม่ดึงดูดไม่น่าสนใจ สามไม่มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม ยังดีมีเรือท่องเที่ยวจากตลาดน้ำพิมลราชไปยังเกาะเกร็ด คลองเส้นนี้ไปทะลุข้างวัดใหญ่สว่างอารมณ์ และบ้านขนมหวานที่อยู่โปรแกรมทัวร์เรือท่องเที่ยวของเกาะเกร็ด ที่ชอบคือคลองยังน่าดูน่าเที่ยวอยู่เลยน่าตื่นเต้นดี แม้ระยะทางไม่ไกลมาก เป็นที่น่าเสียดาย ได้ใช้บริการแค่ครั้งเดียวตลาดน้ำก็ปิดตัวลงเรียบร้อย ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
              ว่ากันซะยาวเลยตอนนี้ ไปไหว้พระ 9 วัดกันดีกว่า เริ่มจากวัดแรก ที่วัดใหญ่สว่างอารมณ์จุดขึ้นเรือที่นี่ต้องไปลงทะเบียนด้วยหรือเปล่าไม่รู้แต่วันงานใหญ่ต้องลงทะเบียนคิวเรือไว้ แนะนำว่าวัดงานใหญ่ที่จัดงานทุเรียนด้วย อย่าไปวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะคนจะมากจนหมดสนุก เริ่มจากวัดแรก ไหว้พระ ลงทะเบียนคิวลงเรือ มีสองรอบ รอบแรกก็ 9 โมงเช้า วัดแรกคือ




              1.วัดใหญ๋สว่างอารมณ์
              ข้อมูลว่าสร้าง เมื่อ พ.ศ. 1969 สมัยสุโขทัยตอนปลาย เดิมชื่อวัดน้อย ตามชื่อคลองข้างวัด ตอนหลังย้ายข้ามคลองเลยเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดใหญ่ยิ่ง" ต่อมาร้างจน พ.ศ.2463 สมเด็จพระมหาสณเจ้า กรมพระชิรญาณวโรรส ได้เสร็จมารักษาพระอาการประชวร ณ ตำหนักชั่วคราวที่ข้าหลวงประจำจังหวัด(พระยาอินทร์) สร้างถวาย เสด็จประทับอยู่ 17 วัน ทอดพระเนตรเห็นบริเวณวัดร้างแห่งนี้  รู้สึกพอพระทัย ทรงมีอารมณ์ผ่องใสพร้อมทั้งสุขภาพและพลานามัยดีขึ้น จึงขนานนามวัดให้ใหม่ ว่ากันว่าท่านประทานนามใหม่ว่า"วัดใหญ่สว่างอารมณ์" เป็นสิริมงคลแก่วัดสืบต่อมา และให้หลวงปู่กุหลาบมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด




             อุโบสถ ลักษณะทรงไทย ซุ้มบุษบก กุฎีสงฆ์ 9 หลัง บริเวณวัดกว้างขวาง เหมาะสำหรับใช้เป็นที่พักผ่อน ของตำบลอ้อมเกร็ดและตำบลใกล้เคียง บิเวณหน้าวัดเป็นแม่น้ำมองด้านข้างทั้งสองเห็นแม่ทอดยาวไปไกล ใครๆก็ต้องแวะชมสายน้ำเพื่อผ่อนคลาย ในวัดมีพระพุทธรูปที่เป็นที่นับถือของชาวตำบลเป็นศิลาแลงปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 4 ศอก สมัยสุโขทัย เจ้าอาวาส พระครูจันโทภาส อุปสมทบเมื่อ 20 เม.ย.2516 ไหว้วัดแรกเป็นสิริมงคล หรือเดินชมบริเวณวัด(ถ้ามีเวลา) จากนั้นก็ไปต่อวัดที่สอง



                               พระประธาน วัดเสาธงทอง

             2. วัดเสาธงทอง
             นั่งเรือข้ามฝั่งเจ้าพระยาไปขึ้นท่าน้ำ วัดที่สอง วัดนี้เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" สมัยท่านเจ้าคุณพระอุดมญาณ ท่านเป็นเจ้าอาวาสเล่าว่าวัดนี้เป็นวัดของราษฎรสร้างขึ้นและมีพระภิกษุสามเณรพำนักอาศัยเป็นจำนวนมาก บริเวณวัดก็มีต้นหมากขึ้นเป็นจำนวนมาก เลยเรียกกันว่า "วัดสวนหมาก" สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยชาวมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารครั้งแรก  วัดเสาธงทองตั้งเมื่อ พ.ศ.2313 อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบนเกาะเกร็ด ระหว่างหมู่บ้านโอ่งอ่าง และบ้านอ้อมเกร็ด ปลายรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาอำภา(เจ้าจอมรัชกาลที่ 2) พร้อมด้วยหมื่นภูบาล และกรมขุนวรจักรี ได้ช่วยกันบรูณะวัด และเปลี่ยนชื่อเป็น"วัดเสาธงทอง" ท่านเจ้าจอมมารดาอำภาเห็นต้นหมากไม่ค่อยมีเสียแล้วเลยเปลี่ยนชื่อวัดใหม่และได้พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2319


                       

 เจดีย์กลีบมะเฟือง


     
                                ต้นยาง 200 ปี เคียงคู่เจดีย์




                 มีพระอุโบสถและวิหารน้อยอายุกว่า 200 ปี อุโบถ ลักษณะเป็นทรงไทยเดิม มีพะไลด้านหน้าและหลัง มีต้นยางอายุกว่า 200 ปี คู่พระอุโบสถ มีเจดีย์กลีบมะเฟืองอวบองค์เดียวในโลกที่เหลืออยู่ พระเจดีย์ย่อมุมไม้ 20 " พระธุตังคธาตุเจดีย์ และเจดีย์ระฆังคว่ำ อายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญมี บ่อน้ำหลวงตากลับ อันศักดิ์สิทธิ์ด้วย เจ้าอาวาส พระครูวิสุทธิสีลาภิรม อุปสมบทเมื่อ 2 ก.ค. 2505 สภาพวัดดูขลังๆเก่าๆดี เดินดูต้นยาง เจดีย์ สภาพด้านข้างวัดเป็นสวนรกๆอยู่ แล้วย้ายต่อไปวัดที่สามเดินออกจากวัดเลี้ยวไปทางขวามือ             


                                         วัดไผ่ล้อม










              3. วัดไผ่ล้อม(เกาะเกร็ด)
              ออกกจากวัดเสาธงทอง ไปทางขวามือ วัดที่สามคือวัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นเป็นวัดแรกของตำบลเกาะเกร็ด สองร้อยกว่าปี สร้างเมื่อ 2313 แต่สร้างไม่เสร็จ ต่อมา พ.ศ.2318 พระยาเจ่ง ต้นสกุล "คชเสนีย์" นำชาวมอญสร้างต่อจนเสร็จ มีปูชนียสถานที่สำคัญคือ อุโบสถ เป็นโบสถ์สมัยอยุธยาที่งดงามมากแห่งหนึ่ง แต่มีการซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ลายจำหลักไม้ที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้งามมาก เช่นเดียวกับสาหร่ายและรวงผึ้งแกะสลักไม้ได้งดงาม  เจ้าอาวาส พระอางุย สุนฺทโร อุปสมบท 15 พ.ค. 2533 หลังอุโบสถมีเจดีย์แบบพม่าเดินๆหามุมสวยๆถ่ายรูป เหมือนมาเที่ยวพม่าเลย ไปต่อกันที่วัดที่สี่ เป็นวัดเด่นของเกาะเลยก็ว่าได้


วัดปรมัยยิกาวาส


              4. วัดปรมัยยิกาวาส
              วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลัดเกร็ด ที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษรา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
              พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เป็นวัดโบราณ น่าจะสร้างหลังจากพระเจ้าท้ายสระทรงโปรดให้ขุดคลอง เมื่อ พ.ศ. 2264 ชาวเรือเรียกว่า "วัดปากอ่าว" จนปี พ.ศ. 2307 พม่าบุกยึดเมืองนนท์ กลายเป็นวัดร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2317 ชาวรามัญที่อพยพมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้บรูณปฏิสังขรณ์ใหม่ คนมอญเรียกว่า "เภี่ยมู๊เกี๊ยเติ้ง" ("เพียมุเกี๊ยะเติ้ง") แปลว่าวัดหัวแหลม
               พ.ศ.2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชดำเนินทอดกฐินวัดมอญ 4 วัด(วัดปากอ่าว(หรือวัดปรมัยฯ),วัดรามัญ(เกาะพระยาเจ่ง),วัดบางพังและวัดสนาม(สนามเหนือ)) ต่อมาทรงเห็นว่า วัดปากอ่าว ทรุดโทรมมาก ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัด โดยรักษารูปแบบมอญไว้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณสมเด็จพระเจ้าบรมอัยยิกาเธอกรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ โปรดเกล้าให้ พระยาอัครนิศราภัย (ต้นตระกูลหงสกุล) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์จารึกความเป็นมาเกี่ยวกับการซ่อมสร้างพระอารามเป็นภาษาไทยลงในเสาหินอ่อนเสาหนึ่ง และเจ้าอาวาสรูปแรก แปลเป็นภาษามอญจารึกลงในเสาหินอ่อนอีกเสาหนึ่ง ตั้งไว้หน้าอุโบสถ เมื่อปฏิสังขรณ์เรียบร้อย ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดปรมัย-ยิกาวาศ" (บรม+อัยยิกา+อาวาศ)  ซึ่งมีความหมายว่า "วัดของพระปรมอัยยิกา" หรือ "วัดของยาย" ต่อมาเขียนเป็น "วัดปรมัยยิกาวาส"





                                  พระประธานในอุโบสถ


                             ลวดลายบนเพดานในอุโบสถ

              สิ่งสำคัญภายในวัดมีพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ บานประตูหน้างต่างประดับ ลายปูนปั้นเขียนด้วยสี กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีลวดลายที่สวยงาม เป็นกำแพงเหล็กอย่างดีทำมาจากยุโรป ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์รูปทรงแบบมอญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ(รับมาจากอุปราชอินเดีย) ที่พระมหารามัญเจดีย์ (จำลองมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี วันสงกรานต์ที่นี่มีการดน้ำพระธาตุเจดีย์ด้วย) นี้ เมื่อปี พ.ศ.2421 และใกล้กันนั้นมีพระวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่เป็นที่สามในอำเภอปากเกร็ด ส่วนด้านหน้าพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งพระปฏิมากร ซานซิวซูน ทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมี "พระนนทมุนินท์" เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.65 เมตร หล่อด้วยโลหะ พระศาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี พระยาราชสงครามเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ด้านใต้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ (ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจก ใต้พาไลด้านหลังพระวิหาร)
             วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร มีประเพณีของเมืองสืบมาว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่ จะจัดพิธีรับอย่างเป็นทางการ พร้อมมีพิธีนมัสการ พระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรีที่วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหารแห่งนี้ด้วย



พระเจดีย์ร่างกุ้ง สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด กลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดไปแล้ว


               นอกจากนี้ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด เดิมเป็นกุฏิของเจ้าอาวาสรูปเก่า คือ เจ้าคุณไตรสรธัช (แสน) ปี 2540 ทางวัดได้เปดเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่วัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกภาษามอญซึ่งมีชุดเดียวในเมืองไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวาย และเครื่องสังเค็ดที่ได้พระราชทานเนื่องในพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญของคนไทยรามัญ  วัดนี้อยู่ใกล้ท่าเรือข้ามฝากไปยังอำเภอปากเกร็ด มาจากอำเภอปากเกร็ดทางรถ มาลงเรือข้ามฝั่งแล้วต่อเรือท่องเที่ยวรอบเกาะ ต่างหากก็ได้ มีพาไปแวะ บ้านขมมหวาน สองแห่ง  จากวัดนี้ก็เดินไปตามทางถนนรอบเกาะวัดถัดไปคือ    



                           พระประธานในอุโบสถ วัดฉิมพลี





                5. วัดฉิมพลี
              วัดฉิมพลี ตั้งอยู่เลขที่ 132 บ้านโอ่งหมู่ 1 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จริงเดินจากวัดปรมัยฯมาไม่ไกลก็ถึงแล้ว อยู่ติดแม่น้ำ มีอุโบถ กุฎีสงฆ์ หอสวดมนต์ พระประธานสมัยสุโขทัย วัดนี้เป็นวัดโบราญสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งวัดเมื่อใดไม่ปรากฏ เดิมชื่อ "วัดป่าฝ้าย" ได้ถูกทิ้งร้างพร้อมกับวัดป่าเลไลย์ที่อยู่ติดกัน ตั้งแต่พม่าเข้ายึดเมืองนนทบุรีเมื่อปี พ.ศ.2308 จนถึงปี 2317 พระเจ้าตากสินได้ให้ชาวมอญมาอาศัย วัดจึงถูกบรูณะขึ้นมาใหม่ ชาวมอญเรียก "เภียะฝ้าย" แปลว่าวัดป่าฝ้าย จนถึงพ.ศ. 2375 มีชาวจีน คือ เจ้าสัวฉิม ภรรยาคนไทยชื่อ "พา"และภรรยาชาวจีนชื่อ "หลี" ได้บรูณะวัดครั้งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ อุโบสถขนาดเล็ก แต่มีความงดงามเป็นเลิศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นโบสถ์สมัยอยุธยา ที่สวยแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีข้อสังเกตว่าเป็นวัดของชาวจีนคือ มีตุ๊กตาจีนอยู่หน้าอุโบสถ 2 ตัว เป็นสัญลักษณ์




              และมีเจดีย์ทรงมอญ เป็นเจดีย์มุมสิบสอง และมีเจดีย์องค์เล็ก 4 องค์ล้อมเจดีย์องค์ใหญ่ เจดีย์ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม องค์ระฆังพระเจดีย์ประดับด้วยกระจกสีทั้งหมด ซึ่งดูแปลกกว่าเจดีย์ที่อื่นๆ และดูสวยงาม วัดนี้สนนิฐานว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2375 พร้อมกับการบรูณะวัดขึ้นมาใหม่นั่นเอง ไม่แน่ใจว่าวัดนี้เพิ่งขุดพบเรือโบราณไม่ใหญ่มาก ยกขึ้นตั้งให้คนได้ชม ได้เวลาไปต่วัดที่ห้า ต้องลงเรือข้ามไปฝั่งตรงข้ามกัน



   พระประธานปางมารวิชัย หน้าตัก 3 ศอกคืบเศษ วัดกลางเกร็ด


             6. วัดกลางเกร็ด
              วัดนี้กำลังดังเลย จากอุบัติเหตเฮลิคอปเตอร์ที่ถ่ายทำสารคดีตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดกลางเกร็ดนี่แหล่ะ เครื่องบินเข้าใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงจนเกิดอุบัติเหตุเป็นข่าวดังในตอนนี้ (13 ก.ย.53)
              วัดกลางเกร็ด ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านคลองลัดเกร็ด ถนนภูมิเวทย์ หมู่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อยู่นอกเกาะเกร็ด ติดแม่น้ำลัดเกร็ด มีพระอุโบสถขนาดเล็กเก่าแก่มาก (เปิดในโอกาสสำคัญ)








             พระประธานปางมารวิชัย และมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ยาว 11 วา(22เมตร) อายุกว่า 100 ปี มีผู้นับถือจำนวนมาก ตั้งวัดเมื่อ 2310 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสี (ปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธีสวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่ามีอาณาเขตเท่าใด จากนั้นจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่า ขอวิสุงคามสีมา (คือเขตที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด (วิสุง แปลว่า ต่างหาก, คาม แปลว่า บ้าน) การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำใดบนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน) เมื่อพ.ศ. 2332 พ่อค้าแม่ค้าทางเรือจะเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อโต วัดกลางเกร็ด แวะเวียนมาเพื่อปะพรมน้ำมนต์ให้เกิดสิริมงคลค้าขายเจริญรุ่งเรือง ภายในวัดยังมีพระไสยาสน์ให้สักการะด้วย




              จอมพลถนอม กิตติขจร กับท่านผู้หญิงจงกล ได้มาบรูณะทะนุบำรุงให้วัดเจริญขึ้น นอกจากนี้บริเวณหน้าวัด เป็นมีปลาสวายเป็นจำนวนมากทางวัดได้จัดบริเวณให้เป็นที่ให้อาหารปลา บรรยากาศร่มรื่นกับภาพชีวิตริมน้ำที่แตกต่างไปจากบรรยากาศที่จอแจของแหล่งชุมชน พักให้อาหารปลาหายเหนื่อยก็ไปลงเรือต่อวัดที่เจ็ด





                 มองจากเรือขึ้นมา เห็นบริเวณหน้าวัดเชิงเลน


               7. วัดเชิงเลน
              วัดเชิงเลน ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ตั้งวัด เป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รอบๆบริเวณเป็นสวนผลไม้ หน้าวัอยู่ทิศตะวันออก หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา  สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง พร้อมวัดท้ายอ่าว(ร้าง)และวัดท่า(ร้าง) ทรุดโทรมลงจนปี พ.ศ.2450 ผู้สร้างคือ นายเอี่ยม นางพร อำแดง บริจาคที่ดินและสร้าง ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่จากกุฎีทรงโบราณเป็นทรงปั้นหยา เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้พัฒนาวัดใหม่ และขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 1 เม.ย. 2456



                                ภายในอุโบสถวัดเชิงเลน



               แต่เดิมนั้นบริเวณนี้เป็นสระ หรือเชิงเลน จึงได้นามใหม่ว่า "วัดเชิงเลน" ตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัด พระประธานในอุโบสถสร้างสมัยสุโขทัย มีพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ทำบุญปิด,ทองพระ,ฟังเทศน์เสร็จก็ย้ายลงเรือไปต่อวัดทัดไป ตอนนี้วนกลับมาจะรอบเกาะแล้ว



                            

              8. วัดท่าอิฐ
              วัดท่าอิฐ ตั้งอยู่เลขที่ 1 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ตั้งวัด เป็นที่ราบลุ่มติดแม่นำเจ้าพระยา โดยทั่วไปเป็นสวน เป็นนา วัดอยู่ระหว่างชาวไทยมุสลิม ทั้งสองข้างวัดเป็นสวน-นาของชาวมุสลิม มีพระพุทธรูปศิลาแลงขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอกคืบในอุโบสถ และพระปางประทานพรหน้าตักกว้าง 6 ศอกคืบในวิหาร



                                ศาลาท่าน้ำ ทางขึ้นวัด

              วัดท่าอิฐ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2316 สร้างมาประมาณ 200 ปีเศษ ชาวบ้านมีอาชีพ ปั้นอิฐ และเป็นท่าขึ้นลงเรือ จึงเรียกตามอาชีพชาวบ้านว่า "วัดท่าอิฐ"  ปี พ.ศ. 2351 รัชกาลที่ 1 สมัยสงครามมลายู โปรดเกล้าให้พระยาพลเทพ(บุญนาค) นำชาวมุสลิมมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่จนทุกวันนี้ เห็นได้ชัดว่าเราชาวไทยพุทธหรือไทยมุสลิม อยู่ร่วมกันมานานเป็นร้อยๆปี ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งอะไรเลย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ก็อยากให้ทุกๆพื้นที่บนแผ่นดินไทยที่แม้จะแตกต่างกันทางความคิด ให้อยู่ร่วมกัน แตกต่างแต่ไม่แตกแยกกันไปนานๆครับ เอ้าไปต่อกันวัดสุดท้าย







                                        วัดแสงสิริธรรม


             9. วัดแสงสิริธรรม
             วัดแสงสิริธรรม ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านท่าอิฐ ถนนท่าอิฐ ต.ท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด เดิมชื่อ "วัดขวิด" ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างถนนรัตนาธิเบศร์ 3 ก.ม.เศษๆ ช่วงแยกบางบัวทองกับสะพานพระนั่งเกล้า เส้นทางรถยนต์ เข้าทางซอยท่าอิฐ หรือเข้าทางวัดใหญ่สว่างอารมณ์ เส้นถนนราชพฤกษ์ก็ได้ แต่นี่กำลังพาล่องเรืออยู่ ไปทางเรือต่อดีกว่า
             วัดแสงสิริธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2327 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2334 ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ปี พ.ศ. 2388 ได้มีการบรูณะปฏิสังขรณ์วัด โดยมีเจ้าสัวเนียม จากกรุงเทพได้สร้างศาลาการเปรียญ ต่อมาอีก ในปีพ.ศ. 2390 ได้ร่วมกับทางวัดบรูณะอุโบสถให้แข็งแรงจนเรียบร้อย
            โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ หลวงพ่อโต สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2392 โดยใช้ปูนซีเมนต์ก่ออิฐลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 เมตรเศษ และหลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 48 ซ.ม. เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย "หลวงพ่อดำ" เคยหายสาบสูญและถูกขโมยไปหลายครั้งแล้วแต่ก็ได้กลับคืนมาทุกครั้ง ทำให้เชื่อว่า หลวงดำเป็นพระทรงฤทธานุภาพนอกจากนี้ ยังมีพระปางสมาธิขนาดใกล้เคียงกับหลวงพ่อดำ เชื่อกันว่าแกะสลักด้วยไม้ลงรักแดงจึงเรียกว่า "หลวงพ่อแดง"
           วัดนี้มีตลาดน้ำตรงทางขึ้นวัด มาจากท่าอิฐก็ได้ ทางเรือก็ได้ ไหว้พระวัดสุดท้ายเสร็จ พักชิมอาหารมีทั้งก๋วยเตี๋ยว,ข้าวแกง,กาแฟ,ไอศรีม มีปลาทอดทั้งขายและชิมฟรีด้วย ทัวร์จบครบ 9 วัด แล้วครับ



   พระพุทธมงคลชัย วัดบางจาก มองจากเกาะเกร็ด (ตอนนี้คงเสร็จเรียบร้อยแล้ว)


             แถมอีก 1 วัดคือวัดบางจาก เป็น 9+1 อยู่นอกเกาะเกร็ด วัดบางจาก อยุ่ตรงข้ามเกาะเกร็ด สะพานพระราม 4 ห้าแยกปากเกร็ด จ.นนทบุรีมองจาก วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อมจะเห็นหลวงพ่อองค์ใหญ่โตโดดเด่นอยู่กลางแม่น้ำเลย  หลวงพ่อพระพุทธมงคลชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 29 เมตร สูงเกือบ 40 เมตร เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดใล่มน้ำเจ้าพระยาเขาว่ากันอย่างนั้น ทางวัดเชิญให้ลอดโบสถ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพื่อเสริมดวงบารมีให้มีแต่สิ่งดีๆๆ และแก้คุณไสย์เวทย์ มนต์ดำ ทุกๆอย่าง( คำเตือนโปรดพิจารณาแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่าน)  วัดจะเปิดให้ประชาชนลอดโบสถ์แค่อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะทางวัดจะทำการดีดโบสถ์ขึ้นสูง  ตอนที่ทำการขุดเจาะโบสถ์ก็พบพระอัครสาวกสองพระองค์ประดิษฐานอยู่ใต้ฐานพระอุโบสถ คาดว่ามีอายุเก่าราวๆ 200 ปี และก็เป็นวัดสายรามัญนิกายที่ขึ้นชื่อเรื่องวัตรปฎิบัติที่เค่งครัดในพระธรรมวินัย


           * ของแถม ข้อมูลท่องเที่ยวเกาะเกร็ดและสวนทุเรียน 9 สวนเด่น ใครเป็นใครบ้างสนใจจะไปซื้อหรือชมสวนก็ติดต่อเจ้าของสวนกันเองครับ

เกาะเกร็ด
เกาะเกร็ด เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี     พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย  แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ  ชื่อเดิมเรียกว่า เกาะศาลากุน

        เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่างๆบนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา  หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่  ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้วเกาะศาลากุน จึงมีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่าตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อว่า เกาะเกร็ด การคมนาคมบนเกาะจะใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์

        เกาะเกร็ดเป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ภิมูปัญญาท้องถิ่นที่พร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยรามัญที่ได้สืบทอดกันมายาวนานและการทำขนมมงคลอันเป็นสมบัติล้ำค่าที่ควรอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่ลูกหลานชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวตำบลเกาะเกร็ด โทร. 0 2583 7993

        สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่  วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ภายในวัดมี พระอุโบสถ พระวิหาร พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาส  กวานอาม่าน  วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม วัดฉิมพลีสุทธาวาส  ศูนย์เครื่องปั้นดินเผาหมู่ 1 สวนเกร็ดพุทธ คลองขนมหวาน

การเดินทาง สู่เกาะเกร็ด
       รถยนต์  เดินทางโดยรถยนต์มาที่ห้าแยกปากเกร็ดตรงไปตามถนนแจ้งวัฒนะทางไปเทศบาลปากเกร็ด จากห้าแยกประมาณ 20 เมตร ก่อนถึงโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวู้ด เลี้ยวซ้ายเข้าถนนภูมิเวท ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงวัดสนามเหนือจอดรถทิ้งไว้ที่วัดแล้วนั่งเรือข้ามไปเกาะเกร็ดไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดปรมัยยิกาวาส หรือไปที่วัดกลางเกร็ด นั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดป่าฝ้าย (เรือข้ามฟากบริการเวลา 05.00-21.30 น. ค่าโดยสารคนละ 2 บาท วัดสนามเหนือมีบริการจัดที่จอดรถรถยนต์สำหรับนักท่องเที่ยวค่าจอดรถคันละ 30 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางลงที่ป้ายโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวูด แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่ท่าเรือวัดสนามเหนือหรือวัดกลางเกร็ด ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท) 
        เรือ  เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือด่วยเจ้าพระยาออกจากท่าวัดสิงขรลงที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ค่าโดยสารคนละ  22 บาท (เรือทัวร์) จากนั้นเช่าเหมาเรือหางยาวที่ท่าน้ำนนทบุรีไปที่เกาะเกร็ด หรือนั่งเรือรถประจำทางจากท่านน้ำนนทบุรีไปที่อำเภอปากเกร็ดแล้วลงเรือที่วัดสนามเหนือหรือวัดกลาง เรือบริการระหว่างเวลา 08.30-18.30 น. ติดต่อบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา โทร. 0 2222 5330, 0 2225 3002-3 หรือ www.chaophrayaboat.cp.th

        ใช้บริการแพ็กเกจเดินทางท่องเที่ยวเกาะเกร็ด 1 วัด เรือออกจากท่าช้างวังหน้า กรุงเทพฯ เที่ยวเกาะเกร็ด มีบริการมัคคุเทศน์นำชม ในวันเสาร์และอาทิตย์ เดินทางระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. โดยเรือมิตรเจ้าพระยา โทร. 0 2623 6169 ค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 250 บาท

ตัวอย่างรายการท่องเที่ยวบนเกาะเกร็ด
1. ลงเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ และมาขึ้นที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาส นมัสการพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 5 ชมพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านกวนอาหม่าน เดินเท้าหรือเช่าจักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญและสินค้าหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ระหว่างทางเดินไปที่วัดไผ่ล้อมแล้วเดินย้อนมาที่วัดปรมัยยิกาวาสเพื่อลงเรือข้ามฟากกลับ
2. ลงเรือข้ามฝากที่วัดกลางเกร็ดแล้วขึ้นเรือที่ท่าน้ำวัดป่าฝ้าย เดินเท้าหรือปั่นจักรยานไปที่วัดฉิมพลี  ชมและเลือกซื้อผลิตผลทางการเกษตร ชมกลุ่มอาชีพหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ชมนิทรรศการและการสาธิตการแกะลายเครื่องปั้นดินเผา เตาเผาภาชนะดินเผาแบบโบราณ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญ และสวนเกร็ดพุทธ เลือกซื้อของฝากและของที่ระลึกแล้วกลับมาขึ้นเรือที่วัดป่าฝ้าย ล่องเรือข้ามฟากไปวัดกลางเกร็ด แล้วเดินทางกลับสวนเกร็ดพุทธ โทร. 0 2503 4886-7, 08 1438 4792
3. ลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเสาธงทอง ล่องเรือไปทางท้ายเกาะสู่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ตำบลอ้อมเกร็ด ให้อาหารปลาหน้าวัด ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด รายได้ถวายวัดฯ มีมะพร้าวน้ำหอมจำหน่าย
4. นั่งเรือเที่ยวรอบเกาะเกร็ด ที่ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาสมีบริการล่องเรือเที่ยวรอบเกาะเกร็ดชมวิถีชีวิตริมน้ำ แวะสถานที่ท่องเที่ยวและวัดวาอาราม ได้แก่ วัดใหญ่สว่างอารมณ์ วัดศาลากุน ชมการสาธิตการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เข้าคลองบางบัวทองชมการทำขนมหวานที่ขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด มีเรือออกทุก ๆ ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเรือคนละ 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2584 5012, 08 1845 3800, 08 9033 5599, 08 1584 1900 หรือหากต้องการเช่าเรือ มีตั้งแต่ราคา 350-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดของเรือ ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง
5. กิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวบนเกาะเกร็ด มีบริการจักรยานให้เช่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่นใจท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตและธรรมชาติบนเกาะเกร็ด 2 จุด คือ ที่ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส และท่าเรือวัดป่าฝ้าย มีจักรยานให้เช่าวันละ 40 บาท  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด โทร. 0 2583 9544
     เกาะเกร็ด เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก)
ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อที่เรียกนั้น ชื่อเดิมเรียกว่า เกาะศาลากุน
          เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่าง ๆ บนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้วเกาะศาลากุน จึงมีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่าตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อว่า เกาะเกร็ด การคมนาคมบนเกาะจะใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ เดินเท้า และเรือ
           เกาะเกร็ดเป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่ ศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการผลิตสินค้าหัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยรามัญที่ได้สืบทอดกันมายาวนานและการทำขนมมงคลอันเป็นสมบัติลำค่าที่ควรอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่ลูกหลานสืบไป ชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวตำบลเกาะเกร็ด โทร. 0 258 7993






ข้อมูลใหม่ (8 ธ.ค.2553) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ประธานกรรมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะเกร็ด เผยว่า จะจัดงาน " เปิดชุมชนเกาะเกร็ด หลังภัยน้ำท่วม ฟื้นฟูการท่องเที่ยวยั่งยืน " โดยขยายแหล่งท่องเที่ยวจากเดิม 4 หมู่บ้าน เป็น 7 หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ที่ 1-7 โดยจัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น การปั่นจักยานรอบเกาะ (ดีครับ สมัยเปิดท่องเที่ยวเกาะเกร็ดใหม่ๆ ลงทุนเดินรอบเกาะซะจนขาลากเลย) การเที่ยวชมเรียนรู้วิถีชุมชน วัฒนธรรมแบบมอญ ชวนชิมอาหารพื้นบ้าน ชมศิลปวัฒนธรรมที่วัดฉิมพลี วัดปรมัยยิกาวาส และหาซื้อของฝากฝีมือชาวบ้านช่วยเหลือหลังน้ำท่วม ฝากข่าวไว้แล้วอย่าลืมไปเที่ยวชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวมอญหลังน้ำท่วมกันนะครับ